คำชี้แจง
การปรับปรุงดัชนีราคาผู้บริโภค
1. สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า ได้จัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคเผยแพร่เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งได้มีการปรับปรุงน้ำหนักค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค ตามการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติทุกๆ 4 ปี ตลอดมา เพื่อสามารถผลิตดัชนีราคาผู้บริโภคได้ทันสมัย ถูกต้อง สะท้อนค่าครองชีพของประชากรได้อย่างแท้จริงตามพฤติกรรมการบริโภคของประชากรที่เปลี่ยนไป
นับตั้งแต่ปี 2505 ได้มีการปรับปรุงน้ำหนัก 5 ครั้ง ครั้งนี้เป็นการปรับปรุงน้ำหนัก
ค่าใช้จ่ายปี 2541 ตามการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
2. กำหนดลักษณะครัวเรือนตัวอย่าง
โดยปกติการจัดทำดัชนีราคาผู้บริโภคต้องกำหนดลักษณะของครัวเรือนตัวอย่างสำหรับใช้วัด ซึ่งในการปรับปรุงครั้งนี้ได้กำหนดลักษณะครัวเรือนตัวอย่างของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปดังนี้
ครัวเรือนที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภูมิภาค 4 ภาค
มีสมาชิกในครัวเรือนตั้งแต่ 2 6 คน
มีรายได้ตั้งแต่ 6,000 43,000 บาท ต่อเดือนต่อครัวเรือนในปี 2541
มีรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงินต่อเดือน น้อยกว่าร้อยละ 30 ของรายได้ทั้งหมด (เช่น สวัสดิการต่างๆ, ที่พักอาศัย, เสื้อผ้า เป็นต้น)
3. การคัดเลือกรายการสินค้า
รายการสินค้าและบริการที่ได้จากการสำรวจ จะคัดเลือกสินค้าและบริการเพื่อใช้เป็นตัวอย่างรายการสินค้าและบริการสำหรับคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคโดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ดังนี้
เลือกรายการสินค้าที่มีความสำคัญ ได้จากการคัดเลือกรายการข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยใช้หลักเกณฑ์การเลือกรายการสินค้า ที่มีสัดส่วนค่าใช้จ่ายของสินค้าแต่ละรายการต่อค่าใช้จ่ายรวมตั้งแต่ร้อยละ 0.01 ของสินค้าทั้งหมด
ดูแนวโน้มของสัดส่วนค่าใช้จ่ายของรายการนั้นๆ เทียบกับการสำรวจที่ผ่านมาถ้ามีแนวโน้มมากขึ้น คาดว่าจะมีการใช้จ่ายในสินค้ารายนี้มากขึ้น จะคัดเลือกไว้เป็นตัวแทน
สินค้าบางชนิดในขณะสำรวจอาจจะมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายน้อย แต่ถ้าคาดว่าในอนาคตจะมีความสำคัญมากขึ้นก็จะคัดเลือกใช้เป็นตัวแทน
สินค้าที่คัดเลือกสามารถกำหนดลักษณะจำเพาะได้ชัดเจน
เป็นสินค้าที่มีการซื้อขายกันอยู่ในท้องตลาดทั่วไปสามารถจัดเก็บราคาได้
ในโครงสร้างค่าใช้จ่ายจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของสำนักงานสถิติแห่งชาติ บางหมวดบางรายการไม่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการบริโภค ก็จะไม่นำมาเป็นรายการดัชนี เช่น ภาษีเงินได้ ค่าของขวัญ และเงินบริจาค ค่าประกันภัยประเภทเงินออม ค่าใช้จ่ายในการซื้อล๊อตเตอรี่ การพนันอื่นๆ และดอกเบี้ยของหนี้สินทุกชนิด ดังนั้นรายการเหล่านี้จะถูกตัดออกจากโครงสร้างดัชนี
จำนวนรายการสินค้าและบริการที่คัดเลือกตามหลักเกณฑ์ข้างต้นให้สินค้าและบริการจำนวน 326 รายการ สำหรับใช้คำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคโดยมีรายการเพิ่มขึ้น 65 รายการ และลดลง 15 รายการ โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 50 รายการ เมื่อเทียบกับปี 2537
4. การปรับปรุงหมวดสินค้าและบริการ
ในปี 2541 ดัชนีหมวดใหญ่ยังคง 7 หมวดเหมือนเดิม
เปลี่ยนชื่อหมวดเครื่องนุ่งห่มเป็นหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า
ดัชนีหมวดย่อยมีการปรับเพิ่มขึ้นโดยแยกเป็นกลุ่มของสินค้าและบริการ เพื่อสามารถวิเคราะห์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล แยกหมวดเป็นค่ายา ค่ารักษาพยาบาล ค่าของใช้ส่วนบุคคลและค่าบริการส่วนบุคคล เป็นต้น
ปรับโครงสร้างหมวดสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเพื่อให้ข้อมูลเป็นมาตรฐานเดียวกันในระบบสากล
5. สัดส่วนค่าใช้จ่ายโครงสร้างดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศ
เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ใช้เป็นน้ำหนักสำหรับคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคระหว่างปี 2541 กับปี 2537
หมวด |
สัดส่วนค่าใช้จ่าย |
|
ปี 2541 |
ปี 2537 |
|
รวมทุกรายการ | 100.00 | 100.00 |
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ | 38.53 | 35.28 |
หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า | 3.65 | 5.61 |
หมวดเคหสถาน | 25.85 | 24.01 |
หมวดตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล | 5.63 | 6.34 |
หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร | 16.15 | 17.45 |
หมวดการบันเทิง การอ่านและการศึกษา | 6.72 | 7.80 |
หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ | 3.47 | 3.51 |
หมวดสินค้าอื่นๆ ที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ |
61.47 |
64.72 |
6. เปรียบเทียบสัดส่วนค่าใช้จ่ายโครงสร้างดัชนีราคาผู้บริโภคของประเทศ
สัดส่วนค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเปรียบเทียบระหว่างปี 2541 กับปี 2537 สรุปได้ดังนี้
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปี 2537 สัดส่วนเป็นร้อยละ 35.28 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 38.53 ของปี 2541
หมวดสินค้าอื่นๆ ที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปี 2537 สัดส่วนเป็นร้อยละ 64.72 กลับลดลงในปี 2541 สัดส่วนเป็นร้อยละ 61.47
7.
การเผยแพร่
ดัชนีราคาผู้บริโภคชุดปี
2541
เริ่มเผยแพร่ตั้งแต่เดือนมกราคม
2545 เป็นต้นไป
รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อกับสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้าโดยตรง
โทร. 0-2622-2446-8 หรือทาง Internet (http://www.dit.go.th)